วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

คำตอบของนักคณิตศาสตร์กับโอกาสที่จะพบมนุษย์ต่างดาว


ไซน์เดลี/บีบีซีนิวส์ - สงสัยและค้นหากันมานาน แต่ก็ยังไม่มีใครได้เจอะเจอกับมนุษย์ต่างดาว หรือสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาที่อยู่นอกโลกกันสักที เอ! แล้วเราจะมีโอกาสพบเพื่อนต่างดาวบ้างไหมหนอ? แล้วจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกันล่ะ? คำถามเหล่านี้มีคำตอบอยู่ในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่คิดค้นและพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์เมืองผู้ดี

จะมีใครอยู่ข้างนอกนั่นไหมนะ? ข้อสงสัยของใครหลายๆ คนที่มักบังเกิดขึ้นเสมอเมื่อมองออกไปในท้องฟ้ากว้างยามกลางคืนที่ดารดาษไปด้วยหมู่ดาว และนั่นก็เป็นคำถามที่จุดประกายให้ศาสตราจารย์แอนดรูว์ วัตสัน (Prof Andrew Watson) จากคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) ประเทศอังกฤษ สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อยู่นอกโลก และตีพิมพ์ในวารสารแอสโทรไบโอโลจี (Astrobiology)

ศ.วัตสัน ศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ บนโลกที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต และพัฒนาเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่สามารถคิดคำนวณความน่าจะเป็นในการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทรงปัญญา

เขาใช้เงื่อนไขสำคัญบนโลก ที่เป็นสิ่งกำหนดการวิวัฒน์ของสิ่งมีชีวิตในการทำนายความเป็นไปได้ ที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้บนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่คล้ายกับโลก ซึ่งการหล่อหลอมของสภาวะที่เหมาะสม สำหรับสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะอุบัติขึ้นบนโลกหรือดาวเคราะห์ดวงใดๆ จะเสร็จสิ้นลงเมื่อดวงอาทิตย์ส่องสว่าง

แบบจำลองดวงอาทิตย์บ่งบอกว่าเมื่อแสงสว่างของดวงอาทิตย์มากขึ้น ส่งผลสู่แบบจำลองของอุณหภูมิก็จะให้ข้อมูลที่ทำนายได้ว่า ยุคสมัยของสิ่งมีชีวิตกำกำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอีกประมาณพันล้านปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก หากเทียบกับช่วงเวลา 4 พันล้านปีที่ผ่านมา นับแต่ดาวเคราะห์ดวงนั้นถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก

"เขตชีวมณฑล (biosphere) บนโลกของเราขณะนี้ก็ถือว่ามีอายุเก่าแก่ประมาณหนึ่งแล้ว ซึ่งก็ได้บ่งบอกนัยสำคัญบางอย่างที่ว่าน่าจะเป็นไปได้ว่าอาจจะมีสิ่งมีชีวิต ที่มีความซับซ้อนหรือปัญญาอันชาญฉลาดกำลังรอวันอุบัติขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงใดดวงหนึ่ง" ศ.วัตสันเผย

"ณ เวลานี้ โลกก็เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้นที่จะให้เราเรียนรู้เรื่องราวของดาวเคราะห์อันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ถ้าเราศึกษาลึกลงไปว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีสิ่งใดเอื้อให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ รวมทั้งวิวัฒนาการของพวกเราที่มีมาก่อนหน้านี้"

"และตัวอย่างเดียวของเรานี้แหละ ที่เราจะคาดคะเนต่อไปได้ว่า การวิวัฒนาการจากสิ่งมีชีวิตอย่างง่ายๆ จนกลายเป็นชีวิตที่ซับซ้อน และพัฒนาไปสู่สิ่งมีชีวิตอันชาญฉลาดได้อย่างไร อย่างไรก็ดี ขณะนี้เราเชื่อกันว่าพวกเราวิวัฒนาการขึ้นมาในยุคท้ายๆ ของช่วงเวลาแห่งการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งเป็นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยซ้ำ และในความเป็นจริงแล้วช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ นั้นก็สอดคล้องกันอย่างเหมาะเจาะ" ศ.วัตสันกล่าว

ศ.วัตสัน เสนอว่า จำนวนขั้นของการวิวัฒนาการที่จำเป็นสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งมีชีวิตอันชาญฉลาดอย่างเช่นมนุษย์เรานั้นมี 4 ขั้นด้วยกัน คือ 1.นับตั้งแต่การปรากฏของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว 2.ต่อไปเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ 3.พัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอวัยวะซับซ้อนมากขึ้น และ 4.จนกระทั่งกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดล้ำและมีภาษาพูดสำหรับสื่อสารให้เข้าใจกัน

"สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนนั้นก็จะมีรูปร่างแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอย่างง่ายที่สุด ด้วยการวิวัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ความความซับซ้อนมากขึ้นและหลงเหลือสิ่งที่เป็นธรรมดาสามัญน้อยลง ส่วนสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาก็จะต้องมีวิวัฒนาการมากกว่านั้น และคงเหลือส่วนที่ธรรมดาๆ น้อยลงไปอีก" ศ.วัตสัน อธิบาย

ทั้งนี้แบบจำลองของ ศ.วัตสัน บ่งชี้ว่า เฉพาะในกาแลกซีทางช้างเผือกที่เราอยู่ มีดวงดาวมากถึง 100,000,000,000 ดวง (หนึ่งแสนล้านดวง) มีดวงดาวคล้ายโลกอีหลายพันดวง แต่ด้วย 4 ขั้นของวิวัฒนาการที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ความน่าจะเป็นสูงสุดที่อาจมีวิวัฒนาการในแต่ละขั้นเกิดขึ้นไม่น่าเกิน 10% ดังนั้นโอกาสที่จะพบสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาจึงน้อยมากๆ น้อยกว่า 0.01% ในรอบ 4 พันล้านปีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี วิวัฒนาการแต่ละขั้นนั้นมีส่วนสัมพันธ์กัน และจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อขั้นตอนก่อนหน้านั้นได้อุบัติขึ้นแล้ว ซึ่งก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้เท่าๆ กันในช่วงเวลาที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์โลก และยังสอดคล้องกันกับช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่เกิดขึ้นกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก.

1 ความคิดเห็น: